ReadyPlanet.com
dot dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
สมาคมมัณฑนากรหัวใจฯ
Research by Thai Heart
Thai Heart Cardiology Channel
HAT Annual Report


สมาชิกสมาคมฯ

ระเบียบ - ข้อบังคับ
สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
(ฉบับแก้ไข พ.ศ. ๒๕๖๕)
 
1.  ชื่อ  ตรา และที่ตั้งสำนักงาน
              1.1  สมาคมนี้ชื่อ สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
ชื่อภาษาอังกฤษ The Heart Association of Thailand under the Royal Patronage of H.M. the King
1.2   ตราสมาคมฯ เป็นรูปวงกลมมีรูปหัวใจสีแดงอยู่ตรงกลาง และมีชื่อสมาคมฯ ล้อมรอบวางอยู่บนสี่เหลี่ยมจัตุรัสสีน้ำเงิน เป็นเครื่องหมายสำหรับสมาชิกประดับได้

1.3   สำนักงานของสมาคมฯ ตั้งอยู่ที่  ชั้น 5 อาคารเฉลิมพระบารมี ๕๐ ปี เลขที่ 2 ซอยศูนย์วิจัย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 10310
 
2.  วัตถุประสงค์
            สมาคมฯ นี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง และมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
2.1   ส่งเสริมและแลกเปลี่ยนความรู้ด้านโรคหัวใจและหลอดเลือดให้ก้าวหน้า และทันเหตุการณ์อยู่เสมอ
2.2   สนับสนุนการวิจัย  วิชาการด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด
2.3   ส่งเสริมสามัคคีธรรมระหว่างสมาชิก
2.4   ฝึกอบรมวิชาการด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด ให้แก่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์
2.5   เผยแพร่ความรู้ด้านโรคหัวใจและหลอดเลือดให้ประชาชน
2.6   ช่วยเหลือประชาชนในด้านการป้องกันและรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด
2.7   ร่วมมือและประสานกับสถาบันวิชาการ และการกุศลอื่นๆ เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสมาคมฯ
 
3.  ประเภท คุณสมบัติ และจำนวนสมาชิก
ประเภทของสมาชิก มี 3 ประเภท คือ
ก.     สมาชิกสามัญ
ข.     สมาชิกกิตติมศักดิ์
ค.     สมาชิกสมทบ
 
คุณสมบัติของสมาชิก
ก.     สมาชิกสามัญ
      ก.1 เป็นแพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรมเป็นแพทย์เฉพาะทางเป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปี และฝึกอบรมต่อในสาขาใดสาขาหนึ่งของวิชาโรคหัวใจอีกเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี ในสถาบันที่สมาคมฯ รับรอง หรือที่ทำงานในสาขาของวิชาโรคหัวใจเป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปี สถาบันที่สมาคมฯ รับรอง และคณะกรรมการอำนวยการมีมติเป็นเอกฉันท์ให้รับเข้าเป็นสมาชิก
                  ก.2 ต้องเป็นบุคคลที่ไม่ต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาเว้นแต่ความผิดฐานประมาท หรือมีประวัติความประพฤติที่เป็นการเสื่อมเสียแก่สมาคมฯ อย่างร้ายแรง
            .   สมาชิกกิตติมศักดิ์
                  ได้แก่บุคคลที่คณะกรรมการอำนวยการได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์
            .   สมาชิกสมทบ
                  ได้แก่บุคคล ที่สนใจในวิชาโรคหัวใจ และคณะกรรมการอำนวยการมีมติรับรองการเป็นสมาชิกสมทบ  เป็นระยะเวลาครั้งละไม่เกิน 5 ปี จำนวนสมาชิกไม่จำกัดจำนวนสมาชิก
 
4.    การสมัครเข้าเป็นสมาชิก
ผู้สมัครต้องยื่นใบสมัครตามแบบใบสมัครของสมาคมฯ ต่อเลขาธิการ โดยมีสมาชิกสามัญเป็นผู้นำเสนอ 1 คน และมีผู้รับรองอีก 1 คน
 
5.    สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก
5.1  สิทธิและหน้าที่สมาชิกจะเริ่มภายหลังจากที่ได้รับการลงทะเบียนเท่านั้น และการลงทะเบียนจะทำได้ก็ต่อเมื่อผู้ที่ได้รับเลือกเป็นสมาชิกได้ชำระเงินค่าสมาชิกเรียบร้อยแล้ว
            5.2  เงินบำรุงสำหรับการเป็นสมาชิก มีอัตราดังนี้ สมาชิกสามัญตลอดชีพ 5,000 บาท สมาชิกสมทบ 2,000 บาทต่อ 5 ปี เงินที่ได้ชำระแล้วไม่อาจเรียกคืนได้ การชำระเงินค่าบำรุงต้องชำระล่วงหน้าเป็นรายปี ให้ค้างชำระได้ไม่เกิน 2 เดือน
            5.3  สมาชิกสามัญมีสิทธิเลือกคณะกรรมการอำนวยการ (ยกเว้นตำแหน่งนายกสมาคมฯ) โดยลงคะแนนเลือกได้คนละ 1 คะแนนในแต่ละตำแหน่งและมีสิทธิ์ที่จะไต่ถามหรือขอตรวจดูเอกสารทะเบียนสมาชิกบัญชีและทรัพย์สิน ของสมาคม ณ สำนักงานของสมาคม ได้ภายในระยะเวลาอันสมควร นอกจากนี้แล้วยังมีสิทธิ์ที่จะเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการอำนวยการ และออกเสียงได้คนละ 1 คะแนน ในการประชุมใหญ่ของสมาคมฯ
            5.4  สมาชิกมีหน้าที่ที่จะช่วยจรรโลงสนับสนุน ส่งเสริมการดำเนินงานของสมาคมฯ และการดำเนินงานของคณะกรรมการอำนวยการเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของสมาคมฯ
            5.5  สมาชิกมีสิทธิ์ที่จะได้รับประโยชน์จากสมาคมฯ ดังนี้คือ
ก.     รับวารสารจากสมาคมฯ ที่จัดทำโดยสมาคมฯ ในอัตราสมาชิกตามที่คณะกรรมการอำนวยการกำหนด
                           ข.   ร่วมประชุมทางวิชาการที่จัดให้มีขึ้นโดยสมาคมฯ โดยอัตราสมาชิกตามที่คณะกรรมการอำนวยการกำหนด
                      ค.   ใช้บริการต่างๆ ของสมาคมฯ เช่น ห้องสมุด ในอัตราสมาชิกตามที่คณะกรรมการอำนวยการกำหนด
 
6.   การขาดจากสมาชิกภาพ
      6.1  สมาชิกภาพสิ้นสุดลงอย่างอัตโนมัติด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ดังต่อไปนี้

 

ก.  ตาย
ข.     ลาออก
ค.  ต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดของศาล เว้นความผิดฐานประมาท และคณะกรรมการเห็นสมควร
ง.    ที่ประชุมใหญ่ลงมติให้พ้นจากการเป็นสมาชิกโดยมีคะแนนเสียง 3 ใน 4 ของสมาชิกที่เข้าร่วมประชุม
 
 
      6.2  การลาออกให้แสดงความจำนงเป็นลายลักษณ์อักษร ยื่นต่อเลขาธิการแต่ต้องชำระหนี้ที่มีต่อสมาคมฯ ให้เสร็จสิ้นก่อน และการออกจากสมาชิกภาพในกรณีนี้จะสมบูรณ์ต่อเมื่อคณะกรรมการอนุมัติแล้ว
 
7.   คณะกรรมการอำนวยการ
ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า คณะกรรมการอำนวยการมีหน้าที่บริหารกิจการของสมาคมฯ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ประกอบด้วยบุคคล 12  คน คือ
1.     นายก
2.     อุปนายก
3.     เลขาธิการ
4.     เหรัญญิก
5.     ปฏิคม
6.     ประธานวิชาการ
7.     กรรมการกลาง
8.     กรรมการกลาง
9.     กรรมการกลาง
10.   กรรมการกลาง
11.   กรรมการกลาง
12.   กรรมการกลาง
 
8.    ที่มาของคณะกรรมการอำนวยการ     
8.1  ตำแหน่งอุปนายกและคณะกรรมการอำนวยการอีก 10 คน ได้มาโดยการเลือกตั้งล่วงหน้าภายในเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคมก่อนการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ด้วยวิธีทางไปรษณีย์หรือทางระบบออนไลน์ 
8.2  ให้มีการเลือกอุปนายกและคณะกรรมการอำนวยการอีก 10 คน ทุก 2 ปี โดยเลือกจากสมาชิกสามัญ แทนผู้ต้องออกหลังจากอยู่ในวาระครบ 2 ปี
8.2.1  นายกสมาคมฯ มาจากอุปนายก ที่ครบวาระการทำงานในตำแหน่งอุปนายก 2 ปี
นายกสมาคมฯ มีวาระครั้งละ 2 ปี และจะอยู่ในตำแหน่งติดต่อกันเกิน 1 วาระไม่ได้
8.2.2  ตำแหน่งเลขาธิการ ปฏิคม เหรัญญิก ประธานวิชาการ และกรรมการกลาง ได้มาจากมติที่ประชุมของคณะกรรมการอำนวยการภายหลัง ได้รับการเลือกตั้ง มีวาระครั้งละ 2 ปี จะอยู่ในตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระไม่ได้
            8.3  บุคคลในคณะกรรมการอำนวยการดำรงอยู่ในตำแหน่งแต่ละวาระได้เพียงตำแหน่งเดียว
            8.4  ถ้ากรรมการตำแหน่งใดในคณะกรรมการอำนวยการว่างลงเพราะเหตุอื่นที่ไม่ใช่หมดวาระให้คณะกรรมการที่เหลืออยู่ เลือกผู้ดำรงตำแหน่งแทนจากกรรมการและหรือสมาชิกสามัญ ผู้ที่เข้ารับตำแหน่งแทน จะอยู่ในตำแหน่งได้เพียงวาระของผู้ที่ตนแทนเท่านั้น
 
9.   หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการอำนวยการ
           9.1  บริหารกิจการของสมาคมฯ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้โดยมีสิทธิ์และอำนาจที่จะ
ก.   ตราระเบียบขึ้นใช้โดยไม่ขัดแย้งต่อระเบียบข้อบังคับข้อ 2 ของสมาคมฯ
ข.     ตั้งหรือถอดที่ปรึกษา
ค.     ตั้งหรือถอดคณะอนุกรรมการที่ตั้งขึ้นเพื่อดำเนินงานเรื่องต่างๆ ตามแต่จะเห็นสมควร
ง.      ตั้ง บรรจุ หรือถอดเจ้าหน้าที่ของสมาคมฯ
           9.2  นายกสมาคมฯ มีหน้าที่เป็นหัวหน้ารับผิดชอบในการบริหารกิจการของสมาคมฯ และกำหนดวันประชุมใหญ่ของสมาคมฯ ประจำปี
           9.3  อุปนายกมีหน้าที่ทำหน้าที่แทนนายกเมื่อนายกไม่อยู่หรือทำหน้าที่อื่นที่นายกมอบหมาย
           9.4  เหรัญญิก มีหน้าที่รับจ่ายและรักษาเงินของสมาคมฯ ทำงบประมาณประจำปีและเสนอรายงานการเงินของสมาคมฯ ต่อที่ประชุมใหญ่ประจำปี
            9.5  เลขาธิการมีหน้าที่ในการติดต่อและรักษาระเบียบทั่วไป และทำบัญชีบุคคลทุก 12 เดือน
            9.6  ปฏิคมมีหน้าที่เป็นประชาสัมพันธ์ของสมาคมฯ และอำนวยความสะดวกแก่สมาชิกในกิจการทั่วๆ ไป
            9.7  ประธานวิชาการมีหน้าที่ ดูแลและประสานงานการจัดประชุมวิชาการของสมาคม และการประชุมอื่นๆ ที่สมาคมมีส่วนร่วม รวมทั้งคัดเลือกผลงานวิจัยเพื่อรับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสมาคมฯ หรือเพื่อเสนอผลงานวิจัยในที่ประชุมใหญ่ประจำปีของสมาคมฯ
 
10.  การขาดจากตำแหน่งของคณะกรรมการอำนวยการ
      10.1  กรรมการอำนวยการย่อมขาดจากตำแหน่งได้ ดังต่อไปนี้
ก.  ตามวาระ
ข.  ลาออก
ค.  ขาดจากสมาชิกภาพ
ง.  ที่ประชุมใหญ่ลงมติให้ออกตามในข้อ 6.1
          10.2  สมาชิกสามัญอาจถอดกรรมการอำนวยการทั้งคณะ หรือบางคนได้ในกรณีที่คณะกรรมการหรือกรรมการบางคนเป็นผู้รับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สมาคมฯ ทั้งนี้โดยคะแนนเสียงอย่างน้อย 3 ใน 4 ของสมาชิกทั้งหมด
          10.3  กรรมการตั้งแต่ 4 คน ขึ้นไปสามารถถอดกรรมการที่ขาดการประชุม 3 ครั้งติดต่อกันยกเว้นมีเหตุอันสมควร
 
11.  การประชุมคณะกรรมการอำนวยการ
     11.1  ให้มีการประชุมกรรมการอำนวยการ อย่างน้อยทุก 2 เดือน
            11.2  องค์ประชุมต้อง ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของคณะกรรมการอำนวยการ ในกรณีที่มีการออกเสียงให้ถือเสียงข้างมากเป็นมติของที่ประชุม ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานเป็นผู้ชี้ขาด
            11.3  คณะกรรมการอาจเชิญผู้ที่เห็นสมควรเข้าร่วมประชุม และให้ออกความเห็นได้ แต่ไม่มีสิทธิ์ลงมติออกเสียง
 
12.  การประชุมใหญ่       
            12.1  ให้คณะกรรมการอำนวยการเรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปี ปีละครั้ง ภายในเดือนมกราคม ถึงเดือนมีนาคม เพื่อแสดงกิจกรรมที่ได้กระทำไปในรอบปีที่แล้วมา บัญชีงบดุล แต่งตั้งผู้ตรวจบัญชี ปรึกษาหารือกิจการของสมาคมฯ
            12.2  เลขาธิการมีหน้าที่จะต้องแจ้งให้สมาชิกทราบถึงวันประชุม สถานที่ประชุมและระเบียบวาระของการประชุมไม่น้อยกว่า 7 วันก่อนประชุม
12.3  องค์ประชุมของการประชุมใหญ่ต้องมีอย่างน้อย 30 คน
               12.4    ถ้าไม่ครบองค์ประชุม และเมื่อได้เรียกประชุมใหญ่ครั้งที่สอง โดยทำตามข้อความในข้อ 12.2 แล้ว ผู้ที่มาประชุมน้อยกว่า 30 คน ก็ถือเป็นองค์ประชุมได้
12.5  การประชุมใหญ่วิสามัญอาจมีได้ถ้า
ก.   คณะกรรมการอำนวยการเห็นสมควร
ข.     สมาชิกสามัญไม่น้อยกว่า 10 คนร้องขอต่อเลขาธิการเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่า 15 วัน   ก่อนวันที่จะให้มีการประชุม ระเบียบว่าด้วยองค์ประชุมให้อนุโลมตามความในข้อ 12.3 และ 12.4
               12.6  ให้เลขาธิการเป็นผู้บันทึกรายงานการประชุม และให้คณะกรรมการอำนวยการลงมติรับรองรายงาน              การประชุมซึ่งต้องเก็บไว้เป็นหลักฐานตลอดไป โดยเลขาธิการเป็นผู้รับผิดชอบ
 
13. การเงินของสมาคมฯ
            13.1  ให้เหรัญญิกเป็นผู้เก็บเงินของสมาคมฯ ภายใต้ความรับผิดชอบของคณะกรรมการอำนวยการ
            13.2  เงินของสมาคมฯ ต้องฝากในธนาคาร บริษัทเงินทุนที่คณะกรรมการรับรองหรือซื้อพันธบัตรเงินกู้ของรัฐบาลไทย
13.3 เหรัญญิกจะรักษาเงินสดไม่เกิน 20,000 บาท (สองหมื่นบาทถ้วน)
13.4  การสั่งจ่ายเงินสมาคมฯ จากธนาคารต้องมีรายชื่อบุคคล 2 คน คือ
ก.     นายกสมาคมฯ หรือ อุปนายก หรือ เลขาธิการ และ
ข.     เหรัญญิก
           13.5  คณะกรรมการอำนวยการต้องจัดให้มีบัญชีไว้อย่างถูกต้องสองบัญชี คือ
ก.     บัญชีรายรับ-รายจ่ายของสมาคมฯ
ข.     บัญชีทรัพย์สิน-หนี้สินของสมาคมฯ
 
14.  การเลิกสมาคมฯ และการชำระบัญชี
            14.1  การเลิกสมาคมฯ ต้องมีสมาชิกสามัญลงมติให้เลิกด้วยคะแนนเสียงอย่างน้อย 3 ใน 4 ของสมาชิกสามัญทั้งหมด
            14.2  ให้ที่ประชุมใหญ่ลงมติแต่งตั้งผู้ชำระบัญชี และการชำระบัญชีให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
            14.3  ทรัพย์สินที่เหลือจากการชำระบัญชีให้ตกเป็นของนิติบุคคล ซึ่งมีวัตถุประสงค์คล้ายคลึง หรือ การกุศลอื่นๆ ตามแต่ที่ประชุมใหญ่จะเห็นสมควร
 
15.  หมวดเบ็ดเตล็ด
            15.1  สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติสมาคมพุทธศักราช 2443
            15.2  การแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมข้อบังคับจะทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ประจำปี หรือที่ประชุมใหญ่วิสามัญ โดยมติ 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกที่มาประชุม และจะบังคับได้ก็ต่อเมื่อได้จดทะเบียนแล้ว
 

 

ระเบียบข้อบังคับสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยฯ ฉบับ แก้ไข พศ. 2565 >> ระเบียบสมาคมแพทย์โรคหัวใจฯ แก้ไข พศ 2565.pdf

 
 
 
 
ระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้งคณะกรรมการอำนวยการ
สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
พ.ศ. 2566
 
ตามที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่สามัญ ประจำปี พ.ศ.​ 2564 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2565 ให้ทำการเปลี่ยนแปลงการเลือกตั้งคณะกรรมการอำนวยการ สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ฯ และการแก้ไขระเบียบข้อบังคับดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจาก กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย แล้ว เพื่อให้การเลือกตั้งคณะกรรมการอำนวยการ ชุดต่อไป เป็นไปด้วยความเรียบร้อย อาศัยความในข้อ 9 แห่งระเบียบข้อบังคับสมาคมแพทย์โรคหัวใจ ฯ คณะกรรมการอำนวยการชุดปัจจุบันจึงออกระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้งคณะกรรมการอำนวยการ สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พ.ศ. 2566 ดังต่อไปนี้
 
หมวดที่ 1
การเลือกตั้งคณะกรรมการอำนวยการตามวาระ
 
ข้อ 1 ให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการอำนวยการ ตามวาระทุกสองปี ตามระเบียบข้อบังคับสมาคมแพทย์โรคหัวใจ ฯ
 
ข้อ 2 ให้มีคณะอนุกรรมการเลือกตั้ง โดยนายกสมาคมแพทย์โรคหัวใจ ฯ เป็นประธาน และมีอนุกรรมการประกอบด้วย สมาชิกสมาคม ฯ จำนวน 5 คน อนุกรรมการเลือกตั้งต้องไม่เป็นกรรมการสมาคม ฯ ในขณะนั้น ยกเว้นนายกสมาคมฯ และไม่มีความประสงค์จะลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนั้น โดยมีเลขานุการสมาคมทำหน้าที่เป็นเลขานุการ
 
ข้อ 3 ให้คณะอนุกรรมการเลือกตั้งดำเนินการเลือกตั้งคณะกรรมการอำนวยการ ให้ทราบผลก่อนครบกำหนดวาระของคณะกรรมการอำนวยการ
 
ข้อ 4 การดำเนินการเลือกตั้ง ให้คณะอนุกรรมการเลือกตั้งประกาศจำนวนคณะกรรมการอำนวยการที่จะเลือกตั้งในวาระการเลือกตั้งนั้น พร้อมทั้งกำหนดวิธีการสมัครรับเลือกตั้ง ระยะเวลาสมัครรับเลือกตั้ง กำหนดวันและสถานที่เลือกตั้ง วิธีการลงคะแนน  การนับคะแนนเลือกตั้ง และ การประกาศผลการเลือกตั้งให้สมาชิกทราบ
 
ข้อ 5 สมาชิกสามัญผู้สมัครรับเลือกตั้ง ต้องเป็นสมาชิกสามัญของสมาคมแพทย์โรคหัวใจ ฯ และมีคุณสมบัติตาม มาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 ด้วย ดังนี้
(1)   เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม
(2)   เป็นผู้ไม่เคยถูกสั่งพักใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาต
(3)   เป็นผู้ไม่เคยถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย
คณะกรรมการอำนวยการ สมาคมแพทย์โรคหัวใจ ฯ มีวาระคราวละ 2 ปี แต่จะดำรงตำแหน่งเดียวกันเกิน 2 วาระติดต่อกันไม่ได้ ตำแหน่งอุปนายกจะดำรงตำแหน่งนายกสมาคมในวาระถัดไป คณะกรรมการอำนวยการจะดำรงตำแหน่งหลายตำแหน่งพร้อมกันในคราวเดียวกันไม่ได้ การนับวาระการดำรงตำแหน่งในข้อนี้ ให้เริ่มนับตั้งแต่คณะกรรมการอำนวยการ วาระปีพ.ศ. 2567-2569 เป็นต้นไป
 
ข้อ 6 การสมัครรับเลือกตั้ง ผู้สมัครต้องกรอกใบสมัครรับเลือกตั้งเป็นลายลักษณ์อักษร หรือผ่านระบบออนไลน์ ต่อคณะอนุกรรมการเลือกตั้ง ภายในกำหนดระยะเวลาที่คณะอนุกรรมการเลือกตั้งได้ประกาศไว้ โดยระบุความประสงค์ว่าจะสมัครในตำแหน่งอุปนายก หรือ กรรมการ ซึ่งจะเลือกให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ต่อไป
 
ข้อ 7 ให้คณะอนุกรรมการเลือกตั้งตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง แล้วแจ้งรายชื่อผู้สมัครที่มีคุณสมบัติครบตามหมวด 1 ข้อ 5 แห่งระเบียบนี้ไปยังสมาชิกสามัญทุกคนทางจดหมาย จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ และเผยแพร่ในเว็บไซด์ของสมาคมแพทย์โรคหัวใจ​ ฯ
 
ข้อ 8 ถ้าผู้สมัครรับเลือกตั้งมีจำนวนไม่เกินจำนวนกรรมการที่จะเลือกตั้งในวาระนั้น ให้ถือว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีรายชื่ออยู่ในประกาศรับเลือกตั้ง เป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการอำนวยการ โดยไม่ต้องมีการลงคะแนนเลือกตั้ง ในกรณีที่มีผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการอำนวยการไม่ครบตามจำนวน ให้ถือว่าตำแหน่งกรรมการที่ขาดนั้นว่างลง และให้ดำเนินการเลือกหรือเลือกตั้งกรรมการตำแหน่งนั้นเพิ่มเติมจนครบ วิธีการที่กำหนดไว้ในหมวด 3 แห่งระเบียบนี้
 
ข้อ 9 ถ้าผู้สมัครรับเลือกตั้งมีจำนวนเกินกว่าจำนวนกรรมการที่จะเลือกตั้งในประเภทต่าง ๆในวาระนั้น ต้องมีการเลือกตั้ง โดยสามารถกระทำได้โดยวิธีอิเล็กทรอนิกส์
 
ข้อ 10 การลงคะแนนเลือกตั้งให้กระทำได้โดยการเลือกชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งจำนวนไม่เกินจำนวนคณะกรรมการอำนวยการ ส่งถึงคณะอนุกรรมการเลือกตั้ง ภายในเวลาที่ได้ประกาศไว้ การตรวจนับคะแนนต้องเริ่มกระทำภายในไม่เกินยี่สิบสี่ชั่วโมงหลังกำหนดเวลาที่ประกาศ
 
ข้อ 11 ให้คณะอนุกรรมการเลือกตั้งจัดทำรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งพร้อมคะแนนตามลำดับสูงสุดลงมาและแจ้งผลให้สมาชิกทราบโดยเร็ว ถ้าผู้สมัครรับเลือกตั้งได้คะแนนเท่ากัน ให้ผู้มีชื่อในทะเบียนประกอบวิชาชีพเวชกรรมในลำดับก่อนเป็นผู้อยู่ในอันดับต้นกว่า
 
ข้อ 12 การตัดสินของคณะอนุกรรมการเลือกตั้ง และเมื่อมีประกาศลงนามแล้ว ถือเป็นที่สิ้นสุด
 
หมวด 2
การเลือกตั้งกรรมการตำแหน่งต่าง ๆ ตามวาระ
 
ข้อ 13 การเลือกตั้งอุปนายก เป็นการเลือกตั้งโดยสมาชิกโดยตรง ถ้ามีผู้ได้คะแนนสูงสุดเท่ากัน ให้ผู้มีชื่อในทะเบียนประกอบวิชาชีพเวชกรรมในลำดับก่อนเป็นผู้ได้รับเลือก โดยตำแหน่งอุปนายก จะดำรงตำแหน่งนายกสมาคม ฯ ในสมัยถัดไป
 
ข้อ 14 การเลือกตำแหน่งบริหารอื่น ๆ คือ เลขาธิการ เหรัญญิก ประธานวิชาการ ปฏิคม กรรมการกลาง ให้กรรมการที่ได้รับเลือกตั้งประชุมเลือกกันเอง หากมีจำนวนกรรมการที่ได้รับเลือกตั้งไม่ครบตามจำนวน ให้ดำเนินการตามหมวด 3 ให้ได้กรรมการครบก่อนเลือกตำแหน่ง ในการประชุมเพื่อเลือกตำแหน่งบริหารต่าง ๆ จะต้องมีผู้เข้ามาประชุมไม่น้อยกว่าสองในสามของคณะกรรมการอำนวยการ
 
หมวด 3
การเลือกและการเลือกตั้งกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่าง
 
ข้อ 15 เมื่อตำแหน่งกรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้งว่างลงจำนวนไม่เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนซึ่งได้รับเลือกตั้ง ให้ที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการเลือกสมาชิกสามัญที่มีคุณสมบัติตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 เป็นกรรมการภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ตำแหน่งกรรมการว่างลง
 
ข้อ 16 หากตำแหน่งกรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้งว่างลงจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนซึ่งได้รับเลือกตั้ง ให้มีการเลือกตั้งกรรมการขึ้นแทน โดยสมาชิกสามัญ ภายในเก้าสิบวัน นับแต่วันที่จำนวนกรรมการดังกล่าวว่างลงเกินกึ่งหนึ่ง ให้ดำเนินการตามหมวด 1 โดยอนุโลม
 
ข้อ 17 ถ้าวาระที่เหลืออยู่ไม่ถึงเก้าสิบวัน การเลือกหรือเลือกตั้งกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างตามข้อ 15 และ 16 แห่งระเบียนนี้ ให้อยู่ในดุลยพินิจของที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการที่จะดำเนินการหรือไม่ก็ได้
 
ข้อ 18 เมื่อตำแหน่งนายกสมาคม ว่างลงก่อนหมดวาระ ให้อุปนายกทำหน้าที่แทน ถ้าตำแหน่งอุปนายก ว่างลงก่อนหมดวาระ ให้มีการเลือกตั้งอุปนายก ภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ตำแหน่งนั้นว่างลง ในบางกรณีอาจจำเป็นต้องเลือกตั้งตำแหน่งนายกสมาคมเพิ่มเติมในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
 
ข้อ 19 เมื่อตำแหน่ง เลขาธิการ หรือ เหรัญญิก ว่างลงก่อนหมดวาระ ให้ดำเนินการเลือกผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวขึ้นแทนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ตำแหน่งนั้นว่างลง โดยเลือกจากกรรมการ หรือ สมาชิกสามัญ
 
ข้อ 20 ถ้าวาระที่เหลืออยู่ไม่ถึงสามสิบวัน การเลือกกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่าง ตามความในข้อ 18 และ 19 ให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการอำนวยการที่จะดำเนินการหรือไม่ก็ได้
 
ระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้งคณะกรรมการอำนวยการ สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พ.ศ. 2566 >>>>> ระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้งคณะกรรมการอำนวยการ.pdf
 
 

------------------------------------------------------------------------------------------

 
 
 
หลักเกณฑ์การรับชมรมต่าง ๆ เข้าอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์
 
ของสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
 
คุณสมบัติ
1.         สมาชิกของชมรมต้องทำงานเกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือด
2.         สมาชิกของชมรมต้องเป็นสมาชิกสามัญแพทย์โรคหัวใจฯ อย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์
3.         ต้องได้รับการอนุมัติจัดตั้งชมรมกรรมการบริหารสมาคมแพทย์โรคหัวใจฯ
 
หน้าที่
1. เผยแพร่ความรู้ส่งเสริมสามัคคีธรรมในหมู่ของสมาชิกชมรม, สมาชิกสมาคมแพทย์โรคหัวใจฯและแพทย์ทั่วไปที่สนใจ โดยไม่ขัดต่อกฎและข้อบังคับของสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย
2. ชมรมแต่ละชมรม จะต้องจัดการประชุมกรรมการบริหารชมรม อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง พร้อมทั้งทำรายงานส่งสมาคมแพทย์โรคหัวใจฯ
3. ควรมีการจัดประชุมวิชาการ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ควรมีกรรมการบริหารของสมาคมแพทย์โรคหัวใจฯ เข้าเป็นกรรมการกลางของชมรมโดยตำแหน่งอย่างน้อย 1 ท่าน
4. ในกรณีที่ชมรมจัดประชุมภายในประเทศ หรือประชุมนานาชาติ และใช้ชื่อสมาคมแพทย์โรคหัวใจฯ ร่วมจัดจะต้องแบ่งรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายแล้วให้สมาคมฯ 25 เปอร์เซ็นต์ (สมาคมแพทย์โรคหัวใจฯ สงวนสิทธิ์ที่จะพิจารณาเก็บเงินค่าบำรุงในกรณีที่มีความจำเป็น)
 
สิทธิ
1.         จัดประชุมวิชาการของชมรมในนามของสมาคมแพทย์โรคหัวใจฯ ได้
2.         ใช้ห้องประชุมของสมาคมแพทย์โรคหัวใจฯ ได้
3.    ได้รับการช่วยเหลือเรื่องการเงินจากสมาคมแพทย์โรคหัวใจฯ ในกรณีที่ไม่มีเงินทุนสนับสนุน
 
 
ระเบียบ การให้ทุนสนับสนุนงานวิจัย
 
สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2552
 
สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีนโยบายจัดสรรทุนสนับสนุนการวิจัย เพื่อส่งเสริมการวิจัยที่จะนำไปสู่การค้นพบความรู้ใหม่ และ/หรือ การนำความรู้ไปปรับปรุงการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจ ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของสมาคมฯ จึงกำหนดระเบียบการให้ทุนสนับสนุนการวิจัย ดังนี้
 
ลักษณะโครงการวิจัยที่จะขอรับทุนสนับสนุน
1. ผลงานวิจัยเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด ที่มีประโยชน์เชิงวิชาการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการ และ/หรือ
2. ผลงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์เชิงนโยบายสาธารณสุข การดูแลรักษาผู้ป่วย การบริการทางการแพทย์ และ/หรือ
3. ผลงานวิจัยที่นำไปสู่การได้รับสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ใหม่ และ/หรือ
4. งานวิจัยสหสาขา และ/หรือ สหสถาบัน ที่เกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด
 
ทุนสนับสนุน และ คุณสมบัติของผู้เสนอโครงการเพื่อรับทุนสนับสนุน
1. หัวหน้าโครงการวิจัยเป็นสมาชิกสมาคมแพทย์โรคหัวใจฯ หรือ
2. หากหัวหน้าโครงการวิจัยไม่เป็นสมาชิกสมาคมแพทย์โรคหัวใจฯ จะต้องมีสมาชิกสมาคมฯ อย่างน้อย 1 ท่านเป็นนักวิจัยร่วม
ในโครงการวิจัยนั้น
3. คณะอนุกรรมการวิจัย และ คณะกรรมการอำนวยการสมาคมฯ จะกำหนดวงเงินทุนสนับสนุนตามแต่จะเห็นสมควรในแต่ละ
โครงการ
4. ระยะเวลาดำเนินการโครงการวิจัยไม่เกิน 2 ปี
 
ขั้นตอนและข้อปฏิบัติ การขอรับทุนสนับสนุนการวิจัย
1. นำเสนอโครงร่างงานวิจัยต่อคณะอนุกรรมการวิจัย โดยส่งเอกสารตามแบบที่กำหนด และนำเสนอด้วยตนเอง โดยเปิดโอกาสนำเสนอได้ 2 ครั้งปี ภายในเดือน มกราคม และ กรกฎาคม ของทุกปี
2. คณะอนุกรรมการวิจัย พิจารณาโครงการร่างงานวิจัย รวมทั้งให้คำแนะนำเพื่อปรับปรุง และ พิจารณาวงเงินทุนสนับสนุน เรียบร้อยแล้วส่งความคิดเห็นให้คณะกรรมการอำนวยการพิจารณาอนุมัติเงินทุน
3. กรณีที่โครงการวิจัยมีระยะเวลาสั้นกว่า 6 เดือน ผู้รับทุนจะได้รับทุนร้อยละ 70 และจะได้รับทุนที่เหลือภายหลังจากที่โครงการวิจัยเสร็จสิ้นและสรุปรายงานผลการวิจัยเบื้องต้นให้คณะอนุกรรมการวิจัยทราบ
4. กรณีที่โครงการวิจัยมีระยะเวลานานกว่า 6 เดือน ผู้รับทุนจะได้รับทุนเป็นรายงวดทุก 6 เดือน งวดแรกจะได้รับร้อยละ 50 เมื่อโครงการผ่านการอนุมัติเงินทุนจากคณะกรรมการอำนวยการสมาคมฯ และงวดต่อๆไปทุก 6 เดือนจะได้รับหลังจากที่คณะอนุกรรมการวิจัยได้รับรายงานความก้าวหน้าของโครงการ
5. ผู้รับทุนจะต้องรายงานความก้าวหน้าของโครงการแก่คณะอนุกรรมการวิจัย ทุก 6 เดือน
6. ผู้รับทุนจะต้องส่งรายงานฉบับสมบูรณ์ที่มีบทคัดย่อภาษาไทยและอังกฤษ และนำเสนอผลงานวิจัยในที่ประชุมวิชาการของสมาคมฯ การเผยแพร่ผลงานไม่ว่าจะกระทำในรูปแบบใด จะต้องระบุว่า การศึกษานี้ได้รับทุนสนับสนุนจากสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ “ This study is supported by The Heart Association of Thailand under the Royal Patronage of H.M. the King”
7. หากผู้รับทุนไม่สามารถดำเนินโครงการวิจัยต่อไปได้และประสงค์จะยุติโครงการก่อนกำหนด ผู้รับทุนจะต้องแจ้งให้คณะอนุกรรมการวิจัยทราบโดยเร็ว และสรุปค่าใช้จ่ายพร้อมทั้งคืนเงินทุนที่เหลือ
8. ภายหลังครบ 2 ปีแล้ว หากผู้รับทุนมีความจำเป็นต้องขยายเวลาวิจัย ให้นำเสนอคณะกรรมการอำนวยการสมาคมฯ เพื่อพิจารณาอีกครั้ง
9. ผู้รับทุนต้องเก็บหลักฐานทั้งหมด รวมทั้งข้อมูลดิบของผลการศึกษา และ หลักฐานการเงินไว้พร้อมสำหรับการตรวจสอบอย่างน้อย 5 ปี
 
 
................................................

การขอรับทุน
อุดหนุนการประชุมทางการแพทย์ในต่างประเทศ
 
เพื่อส่งเสริมสมาชิกให้มีโอกาสศึกษาและเปลี่ยนความรู้โรคหัวใจให้ก้าวหน้าและทันเหตุการณ์อยู่เสมอ สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย จึงได้ออกระเบียบการให้ทุนไปประชุมทางการแพทย์ในต่างประเทศ เริ่มใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 โดยมีระเบียบและหลักการดังต่อไปนี้
1. สมาชิกฯ ผู้ไปประชุมธุรการในนามหรือเป็นตัวแทนของสมาคมฯ
               2. สมาชิกฯ ผู้ได้รับเชิญไปพูดในที่แระชุมทางวิชาการจะเป็น Plenary Session หรือ Symposium หรือได้รับเรื่องประเภท Free Paper
               สมาคมฯ จะพิจารณาช่วยเหลือโดยถือความสำคัญตามลำดับการประชุมฯ ที่จัดโดย 3 องค์การเท่านั้นคือ
1.         ASEAN Federation of Cardiology (AFC)
2.         Asian-Pacific Society of Cardiology (APSC)
3.         International Society and Federation of Cardiology (ISFC)
- สมาคมฯ จะช่วยเหลือเฉพาะค่าเดินทางโดยเครื่องบินชันประหยัดไปกลับ และค่าลงทะเบียนการประชุม (Advance registration) เท่านั้น ถ้ามีผู้หลักเกณฑ์ได้รับการพิจารณาและเงินงบประมาณของสมาคมฯ ในปีนั้นๆ มีจำกัด สมาคมฯ จะแบ่งเฉลี่ยให้สมาชิกที่เข้าเกณฑ์เป็นจำนวนเท่า ๆ กัน โดยจำนวนเงินจะต้องไปเกินค่าโดยสารเครื่องบินชั้นประหยัดไป-กลับ และคาลงทะเบียนการประชุมฯ
- สมาชิกฯ จะต้องเขียนแสดงความจำนงขอรับการช่วยเหลือ และต้องยืนยันแสดงหลักฐานว่าไม่ได้รับเงินช่วยเหลือค่าเดินทาง และค่าลงทะเบียนจากรัฐบาลหรือจากแหล่งอื่น ๆ
- สมาชิกฯ ผู้ได้รับเงินช่วยเหลือในการประชุมต่างประเทศจะต้องแสดงหลักฐานการจ่ายเงินกับเหรัญญิกหลังกลับจากการประชุมด้วย
- การตัดสินของคณะกรรมการของสมาคมฯ ให้ถือเป็นที่สิ้นสุด
 

Download เอกสาร ระเบียบสมาคมฯ และ อื่นๆ

ระเบียบสมาคมแพทย์โรคหัวใจฯ แก้ไข พศ 2560.pdf  ระเบียบการให้ทุนวิจัย.doc  การรับชมรม.doc



Database Update 2012
หน้า 1/1
1
[Go to top]



Copyright © 2010 All Rights Reserved.

สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
ชั้น 5 อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี ซอยศูนย์วิจัย ถนน เพชรบุรีตัดใหม่ กรุงเทพฯ 10310
The Heart Association of Thailand under the Royal Patronage of H.M. The King 5th Floor Royal Golden Jubilee Building, 2 Soonvijai New Petchburi Road , Bangkok 10310 Thailand โทร./ Tel 02-718-0061 โทรสาร / Fax 02-718-0065 Email : thaiheart@thaiheart.org