1. การช่วยหายใจโดยการเป่าลมผ่านจมูก
ใช้ในกรณีเป่าแบบปากต่อปากไม่ได้ เช่น อ้าปากไม่ได้, มีแผลที่ปากประกบปากได้ไม่สนิท และกรณีช่วยชีวิต คนจมน้ำขณะที่อยู่บนผิวน้ำแต่ยังไม่ทันขึ้นฝั่ง วิธีทำคือใช้มือหนึ่งดันหน้าผากผู้หมดสติ อีกมือหนึ่งยกกระดูก ขากรรไกรล่างขึ้นให้ปากปิดสนิท สูดหายใจเข้าเต็มปอด ประกบปากเข้ากับจมูก เป่าลมผ่านรูจมูกเข้าไป จนหน้าอกกระเพื่อมขึ้นแล้วถอนปากออกมาให้ลมหายใจออกผ่านกลับออกมาทางรูจมูก กรณีที่ลมหายใจ ผ่านออกมาได้ช้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่รูจมูกไม่โล่ง อาจจำเป็นต้องอ้าปากแยกริมฝีปากบน และ ล่าง ออกจากกันเป็นครั้งคราวเพื่อให้ลมหายใจผ่านออกมาจากตัวผู้หมดสติได้
2. การใช้แผ่นกันสัมผัสหน้า (face shield)
วางแผ่นกันสัมผัสหน้าไว้ที่บนใบหน้าผู้หมดสติเอาด้านที่มีเครื่องหมายหรือมีอักษร ไว้ข้างบนเพื่อป้องกันการกลับด้านเวลาเอาออกแล้วเอากลับมาวางใหม่ ควร วางไว้บนหน้าผู้หมดสติตั้งแต่ต้นจนจบการช่วยชีวิต อย่าหยิบเข้าหยิบออก
เว้นเสียแต่กรณีผู้หมดสติอาเจียนซึ่งต้องรีบเอาแผ่นออกเพื่อจับหน้าผู้ป่วยตะแคง ในการวางแผ่นกันสัมผัสหน้าต้องให้ส่วนสำหรับลมผ่านตรงกับปากผู้หมดสติพอดี สูดหายใจเข้าเต็มปอด เอา นิ้วมือบีบจมูก (กรณีทำร่วมกับท่าดันหน้าผากและดึงคาง) แล้วทำการเป่าลมเข้าปอดเช่นเดียวกับกรณีปากต่อปาก
หมายเหตุ :
1. แผ่นกันสัมผัสทำด้วยพลาสติกใสขนาดประมาณเท่าผ้าเช็ดหน้า ตรงกลางมีแผ่นเยื่อพิเศษซึ่งมีคุณสมบัติให้ลมผ่านได้แต่น้ำผ่านไม่ได้
2.ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้ยืนยันประสิทธิภาพของแผ่นกัน สัมผัสในการเป่าลมเข้าปอดและในการป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสผ่าน
แผ่นกันสัมผัสมีข้อเสียที่เปรอะเปื้อนง่ายในกรณีที่ผู้ป่วยอาเจียน
3. หน้ากากกันสัมผัส (pocket mask) ซึ่งมีลิ้นบังคับให้ลมหายใจออก ของผู้หมดสติออกไปอีกทางหนึ่ง โดยไม่ขึ้นมาสัมผัสกับปากของผู้ปฏิบัติการช่วยชีวิต เป็นอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพดีกว่าแผ่นกันสัมผัส ทั้งใน การเป่าลมเข้าปอดและในการป้องกันการสัมผัสของเหลวจากผู้ป่วย
การใช้หน้ากากกันสัมผัส (pocket mask) มีวิธีใช้ 2 วิธีคือ
วิธีที่1. เมื่อผู้ปฏิบัติการนั่งอยู่เหนือศีรษะผู้หมดสติ วางหน้ากากครอบปาก และ จมูกของผู้หมดสติไว้ ให้ด้านแหลมคร่อมไปตามดั้งจมูกใช้หัวแม่มือ และ อุ้งมือ ทั้งสองข้างกดขอบด้านข้างของหน้ากากให้แนบกับหน้าของผู้หมดสติให้สนิท ใช้นิ้วที่เหลือดึงกระดูกขากรรไกรล่างขึ้น แล้วสูดหายใจเข้าเต็มปอด อมส่วน ที่เป่าของหน้ากากไว้ในปาก แล้วเป่าลมเข้าปอดจนหน้าอกกระเพื่อม แล้วปล่อยให้ ลมหายใจออกผ่านออกไปเองโดยไม่ต้องคลายหน้ากาก (ภาพที่ 16)
วิธีที่2. เมื่อผู้ปฏิบัติการนั่งอยู่ข้างตัวผู้หมดสติ ครอบหน้ากากคร่อมจมูกและปากผู้หมดสติไว้ ใช้มือหนึ่งดันหน้าผากด้วยฝ่ามือพร้อมกับเอาหัวแม่มือและนิ้วชี้กดส่วนยอดของหน้ากากลง บนดั้งจมูกให้สนิท อีกมือหนึ่งดึงคางให้หน้าเงยขึ้น พร้อมกับใช้หัวแม่มือกดด้านล่างของ หน้ากากแนบกับคางให้สนิทแล้วสูดหายใจเข้าเต็มปอด อมส่วนที่เป่าของหน้ากากไว้ในปาก แล้วเป่าลมเข้าปอดจนหน้าอกกระเพื่อมแล้วปล่อยให้ลมหายใจออกผ่านออกไปเองโดยไม่ต้อง คลายหน้ากาก (ภาพที่ 17)
4.การใช้แบ็กมาสค์ (bag-mask)
ถ้ามีผู้ปฏิบัติการคนเดียว ให้วางหน้ากาก (มาสค์) ครอบไว้บนปาก และ จมูกของผู้หมดสติ ใช้หัวแม่มือและนิ้วชี้กำรอบส่วนของมาสค์ และ กดให้ มาสค์ลงแนบกับหน้าผู้หมดสติให้สนิท ขณะที่นิ้วที่เหลือดึงกระดูกขากรรไกร ให้หน้าผู้หมดสติเงยขึ้นแล้วบีบแบ็กให้ลมเข้าปอดช้าๆ โดยใช้เวลาบีบ 2 วินาที ให้หน้าอกกระเพื่อมจึงจะถือว่าพอ แล้วให้ลมหายใจออกมาเองผ่านลิ้นทางเดียวโดยไม่ต้องคลายมือที่กดมาสค์ (ภาพที่ 18)
ถ้ามีผู้ปฏิบัติการสองคน ให้ผู้ปฏิบัติการคนที่ 1 เป็นผู้ถือมาสค์โดยใช้สองมือเหมือน กับกรณีช่วยหายใจแบบเป่าปากผ่านมาสค์แล้วให้ผู้ปฏิบัติการคนที่ 2 เป็นคนบีบแบ็ก ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพดีกว่าการทำโดยผู้ปฏิบัติการคนเดียว ในบางประเทศ เช่น ออสเตรเลียการใช้แบ็กมาสค์ในการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานจะทำโดยผู้ปฏิบัติการสองคนเสมอ
หมายเหตุ: การใช้อุปกรณ์แบ็กมาสค์โดยผู้ปฏิบัติการคนเดียว มีประสิทธิภาพด้อยกว่าเมื่อมีผู้ปฏิบัติการช่วย การหายใจสองคน จึงควรสงวนการใช้แบ็กมาสค์โดยผู้ปฏิบัติการคนเดียวไว้สำหรับ กรณีที่ผู้ปฏิบัติการ ได้รับการฝึกอบรมวิธีใช้มาอย่างดีแล้ว
การกดกระดูกไครคอยด์ (Sellick maneuver)
การกดกระดูกไครคอยด์เป็นการกดให้หลอดลมลงไปอัดหลอดอาหารที่อยู่ด้านหลัง เพื่อป้องกันกระเพาะอาหาร โป่งขณะช่วยชีวิต ช่วยลดอุบัติการณ์ของการสำลักของเหลวในกระเพาะเข้าปอด ควรทำในผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัว เท่านั้น และ ต้องมีผู้ปฏิบัติการอีกหนึ่งคนมาทำหน้าที่กดโดยเฉพาะ ขณะที่อีกสองคนทำการช่วยชีวิต โดยมีเทคนิค การกดดังนี้
1. ใช้นิ้วชี้คลำยอดลูกกระเดือย (thyroid cartilage)
2. เลื่อนปลายนิ้วชี้ลงไปที่ฐานลูกกระเดือกและคลำหากระดูกไครคอยด์ ซึ่งเป็นกระดูกอ่อนรูปวงแหวนอันแรกที่ถัดลงไปจากลูกกระเดือก
3. ใช้ปลายหัวแม่มือและนิ้วชี้กดกระดูกไครคอยด์ลงไปด้านหลังให้ มีน้ำหนักพอสมควรอย่ากดแรงมากเกินไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งใน ผู้ป่วยอายุน้อย
การคลำชีพจร
ในกรณีที่ผู้ปฏิบัติการช่วยชีวิตเป็นบุคลากรทางการแพทย์หรือเป็นพนักงานช่วยชีวิต ก่อนที่จะลงมือกดหน้าอกควร ประเมินระบบไหลเวียนเลือดโดยการคลำชีพจรก่อนในการคลำชีพจรนั้น แนะนำให้ใช้เวลาไม่เกิน 10 วินาที โดยในผู้หมดสติอายุเกิน 1 ปี ขึ้นไปให้คลำชีพจรที่คอ (carotid artery) ซึ่งเป็นจุดที่คลำได้ง่ายและชัดที่สุด วิธีการคลำนั้นให้วางนิ้วชี้และนิ้วกลางไว้ที่หลอดลมแล้วเลื่อนนิ้วเลียบหลอดลมลงไปถึงร่องด้านข้างที่อยู่ระหว่าง หลอดลมกับกล้ามเนื้อคอ (sternocleidomastoid)
ในกรณีที่คลำชีพจรนาน 10 วินาทีแล้วยังไม่แน่ใจให้ประเมิน ระบบการไหลเวียนเลือด จากการไอ การหายใจและการเคลื่อนไหว หากผู้ป่วยไม่ไอ ไม่หายใจ ไม่เคลื่อนไหว ให้สรุปว่า ระบบการไหลเวียนเลือดไม่ทำงาน ควรลงมือทำการกดหน้าอกเพื่อช่วยทำงาน แทนระบบ ไหลเวียนเลือดทันที
การช่วยชีวิตด้วยผู้ปฏิบัติการสองคน
กรณีที่ทำการช่วยชีวิตด้วยผู้ปฏิบัติการสองคน คนหนึ่งกดหน้าอกอีกคนหนึ่งเป่าลมเข้าปอดโดยใช้มาสค์หรือไม่ก็ตามให้ใช้อัตราการเป่า 2 ครั้งต่อการกด 15 ครั้ง ให้ได้ความถี่ของการกด 100 ครั้ง/นาที เช่นเดียวกับการช่วยชีวิตโดยผู้ปฏิบัติการคนเดียว การประสาน งานระหว่างทั้งสองฝ่ายจะต้องมีการนัดหมายแบ่งงาน เพื่อไม่ให้การกดหน้าอก และเป่าลมเข้าปอดต้องหยุดชะงัก การจะสลับตำแหน่งกันเมื่อฝ่ายหนึ่งเหนื่อยล้า ต้องมีการให้สัญญาณล่วงหน้าให้อีกฝ่ายหนึ่งเตรียมตัวก่อนจะทำการสลับตำแหน่ง ทั้งนี้โดยพยายามให้ช่วงเวลาที่สลับตำแหน่งซึ่งเป็นช่วงที่หยุดการช่วยหายใจ และ กดหน้าอกมีระยะเวลาสั้นที่สุดใน ระยะที่ยังไม่ได้ใส่ท่อหายใจ (tracheal tube) เมื่อฝ่ายหนึ่งเป่าลม เข้าปอดอีกฝ่ายหนึ่งต้องหยุดกดหน้าอก เมื่อใส่ท่อหายใจแล้วจึงใช้วิธีต่างฝ่ายต่างทำงาน คือ กดหน้าอกพร้อม กับเป่าลมเข้าปอดโดยไม่ต้องหยุดรอกันได้
หมายเหตุ:เหตุผลที่ให้ฝ่ายกดหน้าอกหยุดรอเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งกำลังเป่าลมเข้าปอดเพราะขณะที่ยังไม่ได้ใส่ท่อหายใจ การเป่าลม พร้อมกับการกดหน้าอกจะทำให้เกิดการสำลัก (aspiration) ปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้นหากทางเดินลมหายใจได้รับ การป้องกันด้วยท่อหายใจแล้ว ทั้งฝ่ายผู้กดหน้าอกกับผู้เป่าลมเข้าปอดจึงสามารถทำงานเป็นอิสระต่อกันได้ คือ คนกดก็กดไปในอัตราเร็วประมาณ 100 ครั้งต่อนาที ต่อเนื่องกันไปโดยไม่มีการหยุด ส่วนคนเป่าลมเข้าปอดก็ เป่าลมเข้าปอดในอัตราเร็วนาทีละ 12 ครั้งโดยประมาณ
2. การช่วยชีวิตแบบกดหน้าท้องไปด้วย (interposed abdominal compression CPR) เป็นการช่วยชีวิตโดยใช้ผู้ปฏิบัติการ 3 คน คนที่หนึ่งช่วยหายใจ คนที่สองกดหน้าอก คนที่สามกดท้อง โดยวางมือ ระหว่างปลายล่างกระดูกหน้าอกกับสะดือจังหวะที่คนที่สองกดหน้าอก คนที่สามก็คลายมือจากท้อง เมื่อคนที่สอง คลายมือจากหน้าอก คนที่สามก็กดท้อง ทำเช่นนี้ต่อเนื่องกันไป การช่วยชีวิตด้วยวิธีนี้เป็นวิธีที่แนะนำให้ใช้เป็น วิธีเผื่อเลือก (alternative) สำหรับการช่วยชีวิตในโรงพยาบาล เฉพาะกรณีที่มีบุคลากรที่ได้รับการอบรม ให้ทำเทคนิคนี้ได้ชำนาญดีแล้วเท่านั้น
การเอาสิ่งแปลกปลอมออกจากทางเดินลมหายใจ
มีทำกันอยู่หลายวิธี แต่ยังไม่มีหลักฐานพอที่จะบอกว่าวิธีใดดีกว่ากันได้แก่
วิธีที่ 1. รัดกระตุกที่หน้าท้องเหนือสะดือใต้ลิ้นปี่ (Heimlich maneuver ท่านั่งหรือยืน) กรณีผู้ป่วยยังมีสติ โดยให้เข้าไปข้างหลังผู้ป่วยที่กำลังยืนอยู่ มือซ้ายกำหมัดไว้ตรงหน้าท้องระหว่างสะดือกับลิ้นปี่ มือขวากำรอบ กำปั้นซ้ายหรือใช้วิธีประสานมือสองข้างเข้าด้วยกันแล้วรัดกระตุกเข้าหาตัวผู้ปฏิบัติการอย่างแรงหลายๆ ครั้ง จนพูดออกมาได้ (ภาพที่ 23)
วิธีที่ 2. กดกระแทกที่ท้องเหนือสะดือใต้ลิ้นปี่ (Heimlich maneuver ท่านอน) กรณีผู้ป่วยหมดสติ
เมื่อทำการช่วยชีวิตตามวิธีทั่วไปแล้วเป่าลมเข้าปอดไม่ได้ ให้จัดท่าเปิด ทางเดินลมหายใจใหม่แล้วพยายามเป่าลมเข้าปอดอีก ถ้ายังไม่ได้ให้นั่งคร่อม ผู้ป่วยแล้วใช้สันมือกดกระแทกเหนือสะดือใต้ลิ้นปี่ในทิศทางเฉียงขึ้น (ภาพที่ 24) ทำ 5 ครั้ง แล้วใช้ท่ายกกระดูกขากรรไกรล่างร่วมกับใช้นิ้วล้วงเอาสิ่ง แปลกปลอมออกมา (ภาพที่ 25) จากนั้นจึงตรวจการหายใจ และ เริ่มต้น การช่วยชีวิตใหม่
วิธีที่ 3. ตบหลัง (back blow)
โดยใช้สันมือตบที่กลางหลังระหว่างปลายล่างของกระดูกสะบัก (scapula) ทั้งสองข้าง ทำติดๆ กัน 5 ครั้ง ในทางยุโรปจะใช้วิธีตบหลังก่อนเมื่อไม่ได้ผลจึงจะใช้วิธีรัดกระตุกที่ท้อง ในสหรัฐอเมริกาไม่ใช้วิธีตบหลัง ในผู้ใหญ่เลย ทั้งนี้ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าวิธีตบหลังในผู้ใหญ่ได้ผลหรือไม่เพียงใด
วิธีที่ 4.รัดกระตุกที่หน้าอก (chest thrust)
เป็นเทคนิคเดียวกับการรัดกระตุกหรือกดกระแทกที่ท้องแต่เลื่อนขึ้นมาทำที่หน้าอกโดยวางหมัดไว้ที่กึ่งกลางกระดูก หน้าอกแทน ใช้ในคนที่ท้องมีขนาดใหญ่โอบไม่รอบหรือในคนตั้งครรภ์
วิธีที่ 5. ยกกระดูกขากรรไกรแล้วล้วงปากด้วยนิ้ว (finger sweep)
ใช้ในผู้ป่วยที่หมดสติและผู้ปฏิบัติการมองเห็นสิ่งแปลกปลอมอยู่ในปากโดยผู้ปฏิบัติการสวมถุงมือ ใช้มือหนึ่งยก กระดูกขากรรไกรล่างขึ้น โดยให้หัวแม่มืออยู่ในปากยกรวบเอาลิ้นขึ้นมาด้วย นิ้วอื่นยกกระดูกขากรรไกรล่าง จากข้างนอกแล้วเอานิ้วชี้ของอีกมือหนึ่งงอเป็นรูปขอเบ็ด เข้าไปล้วงเอาสิ่งแปลกปลอมออกมา (ภาพที่ 25)
|