ReadyPlanet.com
dot dot
dot
dot
dot
dot
dot
dot
สมาคมมัณฑนากรหัวใจฯ
Research by Thai Heart
Thai Heart Cardiology Channel
HAT Annual Report


ส่วนที่ 1. การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานสำหรับประชาชนทั่วไป

ขั้นที่1. เรียกดูว่ารู้ตัวหรือไม่
ควรมองดูรอบตัวที่ผู้หมดสตินอนอยู่ว่าปลอดภัยก่อน แล้วจึงเข้าไปยังข้างตัวผู้หมดสติ สะกิดหรือเขย่าผู้หมดสติเบาๆ พร้อมกับตะโกนถามว่า “คุณ…เป็นอย่างไรบ้าง?”
หมายเหตุ ในกรณีที่สงสัยว่าจะมีการบาดเจ็บของศีรษะและคอ ให้พยายามขยับตัวผู้หมดสติให้น้อยที่สุด เพราะการโยกหรือขยับตัวมากอาจจะทำให้ผู้หมดสติที่มีการบาดเจ็บของกระดูกสันหลัง อยู่แล้วเป็นอัมพาตได้

ขั้นที่ 2. เรียกหาความช่วยเหลือ
หากหมดสติ ให้ร้องขอความช่วยเหลือจากผู้ที่อยู่ในบริเวณนั้น และ ขอให้คนใดคนหนึ่ง โทรศัพท์หมายเลข 1669 ซึ่งเรียกรถพยาบาล ได้ทุกจังหวัด หรือ หมายเลข 191 เรียกตำรวจให้ไปแจ้งรถพยาบาล อีกต่อหนึ่ง หรืออาจเรียกรถพยาบาล หรือ ทีมงานของโรงพยาบาล ที่เคยใช้อยู่ประจำก็ได้
หมายเหตุ ผู้ที่ทำหน้าที่โทรศัพท์เรียกรถพยาบาล เตรียมข้อมูลให้ครบถ้วนดังนี้
เหตุเกิดที่ไหน เช่น บอกชื่อบริษัท ชื่อถนน หมายเลขโทรศัพท์ที่กำลังพูดอยู่ เกิดอะไรขึ้น อุบัติเหตุ รถยนต์, หัวใจวาย, จมน้ำ, เป็นต้น มีคนต้องการความช่วยเหลือกี่คน สภาพของผู้หมดสติเป็นอย่างไรบ้าง มีการให้ความช่วยเหลืออะไรอยู่บ้าง มีเครื่องช๊อกไฟฟ้าอัตโนมัติอยู่หรือไม่ ข้อมูลอื่นๆ ที่คิดว่าจำเป็น

อย่าวางหูโทรศัพท์จนกว่าพนักงานช่วยชีวิตที่รับโทรศัพท์จะบอกให้เลิกการติดต่อก่อน
ให้โทรศัพท์เรียกความช่วยเหลือทันทีก่อนลงมือปฏิบัติการช่วยชีวิต (call first) ถ้าผู้หมดสติเป็นผู้ใหญ่ เพราะผู้ใหญ่ที่หมดสติมักเกิดจากหัวใจเต้นรัว (VF) ซึ่งมี โอกาสรอดชีวิตมากที่สุดหากได้รับการช็อกไฟฟ้าจากทีมงานช่วยชีวิตขั้นสูงโดยเร็ว แต่ถ้าหากหมดสติจากอุบัติเหตุ,จมน้ำหรือพิษของยาหรือสารพิษ ควรลงมือปฏิบัติการ ช่วยชีวิตก่อนไปโทรศัพท์ เพราะสาเหตุการตายมักเกิดจากทางเดินลมหายใจถูกอุดกั้น ให้ลงมือช่วยชีวิตไปก่อนแล้วค่อยไปโทรศัพท์ภายหลัง (call fast) ถ้าผู้หมดสติเป็นเด็ก อายุต่ำกว่า 8 ปี เพราะสาเหตุการหมดสติในเด็กมักเกิดจากทางเดินลมหายใจถูกอุดกั้น ซึ่งแก้ได้โดยการลงมือปฏิบัติการช่วยชีวิตทันทีทั้งนี้มีข้อยกเว้นกรณีที่รู้แน่ชัดอยู่ก่อนแล้วว่าเด็ก ผู้หมดสติเป็นโรคหัวใจ ซึ่งในกรณีเช่นนี้ควรรีบโทรศัพท์ก่อน เพราะผู้หมดสติจะมีโอกาส รอดชีวิตมากกว่าถ้ารีบช็อกไฟฟ้า

 

ขั้นที่ 3. จัดท่าให้ผู้หมดสตินอนหงาย
ถ้าผู้หมดสติอยู่ในท่านอนคว่ำ ให้พลิกผู้หมดสติมาอยู่ในท่านอนหงายบนพื้นราบและแข็ง แขนสองข้างเหยียดอยู่ข้างลำตัว
หมายเหตุ: กรณีผู้ป่วยอุบัติเหตุหรือสงสัยการบาดเจ็บที่คอและหลัง การจัดท่าต้องระมัดระวังอย่างที่สุด โดยให้ศีรษะ คอ ไหล่ และลำคอตัวตรึงเป็นแนวเดียวกันไม่บิดงอ มิฉะนั้นผู้หมดสติอาจกลายเป็นอัมพาต เพราะกระดูกสันหลังที่หักอยู่แล้วกดทับแกนประสาทสันหลังได้

ขั้นที่ 4. เปิดทางเดินลมหายใจ
ในคนที่หมดสติ กล้ามเนื้อจะคลายตัวทำให้ลิ้นตกลงไปอุดทางเดินลมหายใจ นอกจากนี้ในกรณีที่ผู้หมดสติยังหายใจได้ ในจังหวะหายใจเข้าจะเกิดแรงดูดเอา ลิ้นลงไปอุดกั้นทางเดินลมหายใจมากกว่าเดิม ต้องช่วยยกกระดูกกรรไกรล่างขึ้น ลิ้นซึ่งอยู่ติดกับกระดูก ขากรรไกรล่างจะถูกยกขึ้นทำให้ทางเดินลมหายใจเปิดโล่งการเปิดทางเดินลมหายใจมีสองวิธี คือ

วิธีดันหน้าผากและดึงคาง (head tilt-chin lift)
ใช้ได้กับผู้หมดสติทั่วไปที่ไม่มีการบาดเจ็บที่ศีรษะและคอ โดยการเอาฝ่ามือข้างหนึ่งดันหน้าผาก เอานิ้วชี้และนิ้วกลางของมืออีกข้างหนึ่งดึงคางขึ้น ใช้นิ้วมือดึงเฉพาะกระดูกขากรรไกรล่าง โดยไม่กดเนื้ออ่อนใต้คาง ให้หน้าผู้ป่วยเงยขึ้นจนฟันล่างถูกดึงขึ้นมาจนเกือบชนกับฟันบน

วิธียกขากรรไกรล่าง (jaw thrust)
ใช้ได้กับผู้ป่วยทุกกรณี แต่เนื่องจากเป็นวิธีที่ทำยากและเมื่อยล้าเร็ว จึงแนะนำให้ใช้วิธีนี้กับกรณี ที่สงสัยว่าจะมีการบาดเจ็บที่ศีรษะและคอเท่านั้น ผู้ปฎิบัติการช่วยชีวิตต้องไปอยู่ทางศีรษะของผู้หมดสติ วางมือทั้งสองข้างไว้ที่บริเวณแก้มซ้ายและขวาของผู้หมดสติให้นิ้วหัวแม่มือกดยันที่กระดูกขากรรไกรล่าง ตรงใต้มุมปากทั้งสองข้างนิ้วที่เหลือทั้งหมดเกี่ยวกระดูกขากรรไกรล่าง เอาข้อศอกยันบนพื้นที่ ผู้หมดสตินอนอยู่แล้วดึงกระดูกขากรรไกรล่างขึ้นมา (ภาพที่ 6)
หมายเหตุ : ประชาชนทั่วไปควรฝึกหัดการเปิดทางเดินลมหายใจทั้งสองวิธี

ขั้นที่ 5. ตรวจดูว่าหายใจหรือไม่
โดยเอียงหูลงไปแนบใกล้ปากและจมูกของผู้หมดสติเพื่อฟังเสียงหายใจ ใช้แก้มเป็นตัวรับสัมผัสลมหายใจที่อาจจะออกมาจากจมูกหรือปากของผู้หมดสติ ขณะที่ตาจ้องดูการเคลื่อนไหวหน้าอกของผู้หมดสติว่ากระเพื่อมขึ้นลงเป็นจังหวะหรือไม่ (ตาดู หูฟัง แก้มสัมผัส) โดยมือยังคงเปิดทางเดินลมหายใจอยู่ ใช้เวลาตรวจไม่เกิน 10 วินาที
หมายเหตุ:
1.ถ้าผู้หมดสติหายใจได้และไม่ใช่การหมดสติจากอุบัติเหตุหรือไม่สงสัยว่ามี การบาดเจ็บของกระดูกสันหลังให้จัดท่าผู้หมดสติไว้ในท่าพักฟื้น (ภาพที่ 13)
2. ถ้าสงสัยว่าจะมีการบาดเจ็บของศีรษะหรือคอ ไม่ควรขยับ หรือ จัดท่า ให้ผู้หมดสติเว้นเสียแต่ว่าหากไม่ขยับ ทางเดินลมหายใจจะไม่เปิดโล่งเท่านั้น

ขั้นที่ 6 เป่าลมเข้าปอด
ให้ทำการเป่าลมเข้าปอด 2 ครั้ง เมื่อเห็นว่าผู้หมดสติไม่หายใจหรือไม่มั่นใจว่าหายใจได้เองอย่างเพียงพอ ทั้งนี้ให้เลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่งต่อไปนี้

วิธีที่ 1. เป่าแบบปากต่อปากพร้อมกับดันหน้าผากและดึงคาง
ให้เลื่อนหัวแม่มือและนิ้วชี้ของมือที่ดันหน้าผากอยู่มาบีบที่จมูกผู้หมดสติให้รูจมูกปิดสนิท สูดลมหายใจเข้าให้เต็มปอด เพื่อให้ได้ความเข้มข้นของออกซิเจนในลมหายใจมากขึ้น ประกบปากเข้ากับปาก ตามองหน้าอกผู้หมดสติ และเป่าลมเข้าไปจนหน้าอกของผู้ หมดสติกระเพื่อมขึ้นเป่านาน 2 วินาที แล้วถอนปากออกมาให้ลมหายใจออก ผ่านกลับ ออกมาทางปาก

วิธีที่ 2. เป่าแบบปากต่อปากขณะยกขากรรไกรล่าง

ให้ใช้นิ้วหัวแม่มือทั้งสองข้างดันขากรรไกรล่างให้ปากผู้หมดสติเผยอเปิดออก ก้มลงเอาแก้มปิดรูจมูกทั้งสองรู ไว้ให้แน่น ประกบปากเข้ากับปาก ตามองหน้าอกผู้หมดสติแล้วเป่าลมเข้าไปจนหน้าอกของผู้หมดสติกระเพื่อมขึ้น เป่านาน 2 วินาที แล้วถอนปากออกมาให้ลมหายใจออกผ่านกลับออกมาทางปาก (ภาพที่ 9)

ขั้นที่ 7. หาตำแหน่งวางมือบนหน้าอก
ถ้าผู้หมดสติไม่ไอ ไม่หายใจ ไม่ขยับส่วนใดๆ ของร่างกาย ให้ถือว่า ระบบไหลเวียนเลือดไม่ทำงาน ต้องช่วยกดหน้าอก ให้หาตำแหน่ง ครึ่งล่างของกระดูกหน้าอกเพื่อวางมือเตรียมพร้อมสำหรับการกดหน้าอก โดยใช้นิ้วชี้กับนิ้วกลางคลำขอบชายโครงด้านใกล้ตัวผู้ปฏิบัติ แล้ว ลากขึ้นไปตามขอบกระดูกชายโครงด้านหน้าจนถึงจุดที่กระดูกชายโครง สองข้างมาพบกันซึ่งเป็นปลายล่างของกระดูกหน้าอกพอดี วางนิ้วมือ ทั้งสองถัดจากจุดนั้นขึ้นไปทางกระดูกหน้าอกเพื่อใช้เป็นที่หมาย แล้วเอาสันมือของอีกมือหนึ่งวางลงบนกระดูก หน้าอกตามแนวกลางตัวถัดจากนิ้วมือที่วางไว้เป็นที่หมาย ยกนิ้วมือที่วางเป็นที่หมายออกไปวางทาบ หรือ ประสานกับมือที่วางอยู่บนกระดูกหน้าอก เตรียมพร้อมที่จะกดหน้าอก (ภาพที่ 10)
อีกวิธีหนึ่งคือวางสันมือของมือหนึ่งไว้ตรงกลางหน้าอกระหว่างหัวนมทั้งสองข้าง แล้วเอาอีกมือหนึ่งไปวางทาบ หรือ ประสานกับมือแรกกะประมาณให้แรงกดลงตรงกึ่งกลางระหว่างหัวนมสองข้าง
หมายเหตุ: ปัจจุบันนี้ไม่แนะนำให้ประชาชนทั่วไปคลำชีพจรก่อนทำการกดหน้าอก เพราะมีความผิดพลาดสูง คงแนะนำให้ใช้วิธีคลำชีพจรเฉพาะสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และผู้มีหน้าที่ช่วยชีวิตโดยตรงเท่านั้น

ขั้นที่ 8. กดหน้าอก 15 ครั้งกดหน้าอกแล้วปล่อย กดแล้วปล่อย ทำติดต่อกันไป 15 ครั้ง ให้ได้ความถี่ของการกดประมาณ 100 ครั้ง/นาที โดยนับ หนึ่งและสอง และสาม และสี่ และห้า และหก และเจ็ด และแปด และเก้า และสิบ สิบเอ็ด สิบสอง สิบสาม สิบสี่ สิบห้า ในการกดให้ใช้เทคนิคดังนี้

วางมือหนึ่งทาบบนอีกมือหนึ่งโดยไม่ประสาน หรือจะประสานนิ้วมือทั้งสองข้างเข้าด้วยกันก็ได้ เพียงแต่ต้องคอยระวังให้น้ำหนักผ่านส้นมือล่างลงบนกระดูกหน้าอก ไม่ใช่ลงบนกระดูกซี่โครง เพราะจะเป็นต้นเหตุให้ซี่โครงหักได้

ตรึงข้อศอกให้นิ่ง อย่างอแขน ให้แขนเหยียดตรง โน้มตัวให้หัวไหล่อยู่เหนือผู้หมดสติ ให้ทิศทางของแรงกดดิ่งลงสู่กระดูกหน้าอก ถ้าแรงกดมีทิศทางเฉียงไปด้านใดด้านหนึ่ง แรงจะถูกแตกไปเป็นสองส่วนทำให้แรงที่จะกดหน้าอกในแนวดิ่งไม่มีประสิทธิภาพ

กดหน้าอกให้ยุบลงไปหนึ่งนิ้วครึ่งถึงสองนิ้วหรือ 4-5 ซม. ถ้ายุบมากกว่านี้จะมีความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกหักยกเว้นถ้าผู้ป่วยตัวใหญ่มาก อาจต้องกดให้หน้าอกยุบลงไปมากกว่านี้ได้

ในจังหวะปล่อยต้องคลายมือขึ้นมาให้สุด อย่าคาน้ำหนักไว้เพราะจะทำให้หัวใจคลายตัวได้ไม่เต็มที่ แต่อย่าให้ถึงกับมือหลุดจากหน้าอกเพราะจำทำให้ตำแหน่งมือถูกเปลี่ยนไป

ขั้นที่ 9 เป่าลมเข้าปอด 2 ครั้ง สลับกับกดหน้าอก 15 ครั้ง
เป่าลมเข้าปอด 2 ครั้งสลับกับกดหน้าอก 15 ครั้งไปอย่างน้อยสี่รอบแล้วหยุดประเมินผู้หมดสติอีกครั้ง ถ้ายังไม่รู้ตัว ไม่หายใจ ไม่เคลื่อนไหว ก็เป่าลมเข้าปอดสลับกับกดหน้าอกต่อไปอีกคราวละ 4 รอบ จนกว่าผู้หมดสติจะรู้ตัว หรือ จนกว่าความช่วยเหลือที่เรียกไปจะมาถึง
หมายเหตุ : ในกรณีที่ผู้ปฏิบัติการช่วยชีวิตไม่ต้องการจะเป่าปากผู้หมดสติ หรือทำไม่ได้ ควรช่วยชีวิตด้วยการ เปิดทางเดินลมหายใจแล้วกดหน้าอกอย่างเดียวขณะรอความช่วยเหลืออยู่ เพราะจะมีประโยชน์ต่อผู้หมดสติ มากกว่าการไม่ช่วยอะไรเลย

ขั้นที่ 10. เมื่อผู้หมดสติรู้ตัวแล้ว จัดให้อยู่ในท่าพักฟื้น
จัดให้นอนตะแคงเอามือรองแก้มไม่ให้หน้าคว่ำมากเกินไป เพราะถ้าตะแคง คว่ำมากเกินไปกะบังลมจะขยับได้น้อย ทำให้หายใจเข้า-ออกได้น้อย การจัดท่าพักฟื้น (recovery) นี้ทำได้หลายแบบ แต่มีหลักโดยรวมว่า ควรเป็นท่าตะแคงตั้งฉากกับพื้นให้มากที่สุด ให้ศีรษะอยู่ต่ำเพื่อระบายของ เหลวออกมาจากทางเดินลมหายใจได้ เป็นท่าที่มั่นคงไม่ล้มง่าย ไม่มีแรงกดต่อทรวงอกซึ่งจะทำให้หายใจได้น้อย จัดท่ากลับมา นอนหงายโดยไม่ทำให้คอและศีรษะบิดได้ง่าย มองเห็น และ เข้าถึงปากและจมูกได้ง่าย เป็นท่าที่ไม่ก่อนให้เกิดการบาดเจ็บแก่ผู้ป่วย
หมายเหตุ : ในกรณีที่สงสัยว่ามีการบาดเจ็บของศีรษะหรือคอ ไม่ควรขยับหรือจัดท่าใดๆ ให้ผู้หมดสติเว้นเสีย แต่ว่าหากไปไม่ขยับทางเดินลมหายใจจะไม่เปิดโล่งเท่านั้น

 




ความรู้สำหรับประชาชน

คนเรามีชีวิตอยู่ได้เพราะหัวใจเต้นและมีการหายใจ
สาเหตุที่ทำให้หยุดหายใจและหัวใจหยุดเต้น
คนที่หยุดการหายใจและหัวใจหยุดเต้นไปแล้ว ยังมีโอกาสฟื้นได้
ส่วนที่ 2 ภาคผนวกสำหรับบุคลากรทางการแพทย์
เทคนิคการช่วยชีวิตเด็กทารก ในส่วนที่แตกต่างจากผู้ใหญ่
สรุปการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานสำหรับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์
การเอาสิ่งแปลกปลอมที่อุดกั้นออกจากทางเดินลมหายใจ
การเผยแพร่ความรู่สู่ประชาชน
โรคหัวใจภัยแฝงที่แถมมากับเบาหวาน article



Copyright © 2010 All Rights Reserved.

สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
ชั้น 5 อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี ซอยศูนย์วิจัย ถนน เพชรบุรีตัดใหม่ กรุงเทพฯ 10310
The Heart Association of Thailand under the Royal Patronage of H.M. The King 5th Floor Royal Golden Jubilee Building, 2 Soonvijai New Petchburi Road , Bangkok 10310 Thailand โทร./ Tel 02-718-0061 โทรสาร / Fax 02-718-0065 Email : thaiheart@thaiheart.org